การรังวัดที่ดินมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ใช้เวลากี่วัน

การรังวัดที่ดินเป็นการวัดขนาดที่ดินที่ทางกรมที่ดินให้บริการแก้ผู้ถือที่ดิน เพื่อตรวจสอบว่าขนาดที่ดินแปลงหนึ่งๆ มีขนาดเท่ากับที่ระบุไว้บนโฉนด นอกจากผู้ซื้อที่ดินแล้ว เจ้าของที่ดินที่อยากรู้ขนาดขอบเขตของที่ดินในครอบครอง หรือต้องการตรวจสอบว่าที่ดินไม่ได้มีการรุกล้ำ หรือมีขนาดเพิ่ม-ลดด้วยเหตุผลอื่นๆ อควรทราบไว้

รังวัดที่ดิน

รังวัดที่ดิน คือ

รังวัดที่ดิน คือ กระบวนการซื้อทรัพย์ที่ดิน นอกจากผู้ซื้อต้องดูทำเลที่ตั้ง ตัดสินใจในราคา กฎหมาย และอื่นๆ แล้ว ยังต้องตรวจสอบว่าที่ดินที่ซื้อมาถูกต้องตามข้อมูลในโฉนดด้วย โดยเฉพาะขนาดตามจริงของแปลงที่ดิน ซึ่งตามธรรมดาแล้ว ขนาดที่ดินของแปลงหนึ่งๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกิจกรรมการใช้งาน ปล่อยทิ้งร้าง รุกล้ำ หรือโดนใช้เป็นที่สาธารณะ การรังวัดที่ดินจึงควรเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อควรใส่ใจ

ข้อมูลที่ต้องรู้ก่อนยื่นรังวัดที่ดิน​

  • ชนิดของหลักฐานที่ครอบครองที่ดิน ว่าเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทอะไร เช่น โฉนที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
  • ที่ตั้งของที่ดิน จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่
  • ที่ดินติดกับทางสาธารณะหรือไม่ รอบข้างติดกับแปลงที่ดินของใคร เพราะในการทำรังวัดที่ดินต้องแจ้งเจ้าของที่ดินแปลงข้างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่กัน
  • ลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่ดิน เช่น เป็นที่อยู่อาศัย ที่สวน ที่นา หรือที่ไร่

ประโยชน์ของการ รังวัดที่ดิน​

  • สำหรับผู้ซื้อและขายที่ดิน การรังวัดที่ดินทำเพื่อตรวจสอบขนาดที่ดินจริง ว่ามีขนาดเท่ากับที่ระบุไว้ในใบโฉนดที่ดินที่ประกาศขาย
  • เจ้าของที่ดินที่ทำการแบ่งแยก หรือรวมโฉนดที่ดิน จะได้ทราบขนาดของที่ดินตามปัจจุบัน และได้โฉนดใหม่ที่มีข้อมูลครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริง
  • เจ้าของที่ดินที่ต้องการตรวจสอบเขต โดยเฉพาะเจ้าของที่วัดที่ดินทุกๆ 10 ปี การวัดที่ดินเป็นกระบวนการทำให้เจ้าของที่ดินรับรู้แนวเขตที่เปลี่ยนไป หรือเป็นการป้องกันและตรวจสอบที่ดินที่อาจถูกอ้างครอบครองโดยปรปักษ์ ถูกทับซ้อนเขต หรือกลายเป็นที่สาธารณะ
  • ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ เมื่อมีการรังวัดที่ดินจนรู้ขนาดขอบเขตที่แน่นอนชัดเจน และตรวจสอบแล้ว สามารถเปลี่ยนหนังสือนั้นเป็นโฉนดที่ดินได้

การยื่นคำขอรังวัดที่ดิน​

  • เจ้าของที่ดินที่ต้องการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน สามารถไปทำรายการได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินตั้งอยู่ สำหรับโฉนดที่ดินให้ติดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินสาขา ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ติดต่อสำนักงานที่ดินอำเภอ หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดหากที่สำนักงานที่ดินอำเภอมีการยุบรวมหรือหายไป
  • การยื่นคำขอสำหรับคนที่จะซื้อที่ดิน เพื่อตรวจสอบขนาดที่ดินว่าตรงกับขนาดที่แสดงบนโฉนดที่ดินจริงๆ ผู้ที่สนใจซื้อสามารถติดต่อขอให้ผู้ขายยื่นคำร้องการรังวัดที่ดินกับกรมที่ดิน โดยที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเสียค่าธรรมเนียมในการทำรายการต่างๆ ตามที่ทางราชการกำหนด รวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่ควรจ่ายให้กับช่างรังวัดที่ดินที่มีการว่าจ้างมา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกับขนาดของแปลงที่ดินที่ระบุไว้ในการขาย และสำหรับผู้ซื้อเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมาทีหลังจบการซื้อขาย

หลักฐานประกอบการขอรังวัดที่ดิน

  • โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินที่ต้องการรังวัดที่ดิน
  • บัตรแสดงตัวตนของเจ้าของที่ดิน และหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี) ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส
  • หากต้องการรังวัดที่ดินแบบรวมโฉนด ให้เจ้าของที่ดินนำหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ต้องการรวมกันมาด้วย โดยหนังสือต้องเป็นชนิดเดียวกัน มีผู้ถือหนังสือเหมือนกันทุกฉบับ และที่ดินที่จะรวมต้องตั้งอยู่ติดกัน อยู่ภายในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน

ประเภทของรังวัดที่ดิน

การรังวัดที่ดินเป็นการบริการวัดขอบเขตที่ดินของกรมที่ดิน ซึ่งอาจทำงานร่วมกับช่างรังวัดเอกชนที่ผู้ขอรับบริการสามารถเลือกและยื่นขอให้วัดที่ดินได้ในภายหลังกับทางกรมที่ดิน ในการรังวัดที่ดินโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วย การรังวัดแบ่งแยกที่เจ้าของที่ดินต้องการแบ่งแปลงที่ดิน การรังวัดรวมโฉนดที่เจ้าของที่ดินต้องการรวมที่ดินข้างเคียง และการรังวัดสอบเขตที่ผู้ขอยื่นรังวัดที่ดินต้องการตรวจสอบขนาดที่ดินที่ครอบครองอยู่ว่าตรงกับในโฉนดระบุหรือไม่

การรังวัดแบ่งแยก​

เมื่อเจ้าของที่ดินต้องการแบ่งที่ดินที่ครอบครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแบ่งแยกออกเป็นมรดก ทำกิจการ หรือขายที่ดิน หลังเจ้าของไปยื่นรังวัดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัด เจ้าหน้าที่จะเข้าไปคำนวณพื้นที่ที่ดินที่แยกออกเป็นส่วนๆ แล้วส่งกลับไปยังทะเบียนให้บันทึกข้อมูลแผนที่ดิน จากนั้นจึงออกโฉนดใหม่ โดยเจ้าของที่ดินคนเดิมจะยังคงเป็นเจ้าของที่ดินนั้นๆ ซึ่งในภายหลังสามารถโอนย้ายให้บุคคลอื่นได้

การรังวัดรวมโฉนด​

สำหรับเจ้าของที่ดินที่ต้องการรวมโฉนดจากการซื้อขาย หรือได้รับที่ดินจากที่ดินข้างเคียง ในการขอรังวัดรวมโฉนด ที่ดินที่จะรวมทุกแปลงต้องมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน (โฉนดแผนที่ และโฉนดที่ดินสามารถรวมกันได้) ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ต้องเหมือนกันทุกฉบับและยังมีชีวิตอยู่ และที่ดินในโฉนดทุกฉบับต้องตั้งอยู่ภายในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน

การรังวัดสอบเขต​

การรังวัดที่ดินที่เจ้าของที่ดินต้องการทราบขนาด หรืออยากตรวจสอบพื้นที่ว่าเป็นไปตามขนาดที่ดินหรือไม่ หรือเจ้าของที่ดินที่ทำการรังวัดที่ดินทุกๆ 10 ปี เพื่อตรวจสอบว่าแนวเขตของที่ดินไม่ถูกบุกรุก รุกล้ำ หรือครอบครองโดยปรปักษ์จากที่ดินแปลงข้างเคียง ก็สามารถยื่นรังวัดที่ดินได้ผ่านสำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

ขั้นตอนการรังวัด แบ่งแยก รวม สอบเขตที่ดิน

ทางกรมที่ดินแนะนำให้ผู้ที่ต้องการวัดที่ดิน ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. รับบัตรคิวประชาสัมพันธ์ที่สำนักงานที่ดินที่ไปติดต่อ
  2. แจ้งความประสงค์ที่ต้องการติดต่อ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม
  3. เรื่องจะถูกส่งไปให้ฝ่ายรังวัดไปดำเนินการ ให้นัดวันทำการรังวัด ระบุสำนักงานช่างรังวัดที่ต้องการ แล้วกำหนดเงินมัดจำ
  4. หาเจ้าของที่ดินข้างเคียง พร้อมทั้งพิมพ์ และรับหนังสือแจ้งที่ดินข้างเคียงเนื่องจากการทำรังวัด
  5. วางเงินมัดจำ และรับหลักเขตที่ดิน
  6. ช่างรังวัดออกไปวัดที่ดินตามวันที่กำหนดไว้
    *ช่างจะคำนวณพื้นที่ และเขียนรูปโฉนดที่ดิน จากนั้นจึงส่งเรื่องไปยังทะเบียน ให้เจ้าของที่ดินกลับมาจดทะเบียน หากมีการแบ่งแยกที่ดิน ก็จะมีการสอบสวนแบ่งแยกด้วย และมีการตรวจอายัด
  7. ชำระธรรมเนียมการจดทะเบียน และค่าโฉนดใหม่
  8. ในการแบ่งแยก จะมีการแก้ทะเบียน จดทะเบียนแบ่งแยก และออกโฉนดแบ่งแยก
  9. เสนอเจ้าพนักงานที่ดินให้ลงนาม และประทับตรา จากนั้นเจ้าพนักงานจะแจกโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก

รังวัดแล้วไม่ตรง

ในกรณีที่รังวัดที่ดินแล้วมีขนาดไม่เท่ากันกับที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน มีการล้ำเขตหรือขาดเกินกับที่ดินเคียงข้าง ต้องให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ข้างเคียงลงชื่อรับรองแนวเขตกับเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งมีอำนาจในการรับรอง แก้ไขขนาดที่จริงของโฉนดที่ดินได้ 

แต่ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของนั้นมาลงชื่อรับรองแนวเขตทางไปรษณีย์ และหากยังติดต่อไม่ได้อีก พนักงานเจ้าหน้าที่จะปิดประกาศให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัดในที่เปิดเผย ในบริเวณที่ดินข้างเคียง หรือที่ว่าการอำเภอ หรือเขตที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

หากเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ได้ลงชื่อรับรองแนวเขต หรือคัดค้านภายใน 30 วันหลังจากส่งหนังสือ เจ้าพนักงานจะดำเนินงานต่อไปแม้ไม่มีการับรองแนวเขต พร้อมทั้งให้ผู้ขอรังวัดที่ดินรับรองว่าไม่ได้มีการรุกล้ำที่ดินข้างเคียง และยินยอมให้แก้ไขเนื้อหาลงโฉนดที่ดินตามที่วัดได้จริง 

หรือหากเจ้าของที่ดินคัดค้านการลงชื่อรับรองแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดินจะสอบสวน ไกล่เกลี่ยพิจารณาตามแผนที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายตกลงกันได้ ถ้าตกลงไม่ได้ ผู้ที่ขอรังวัดที่ดินสามารถไปฟ้องศาลได้ภายใน 90 วันนับจากวันที่รับหนังสือแจ้ง จากนั้นเจ้าพนักงานที่ดินจะดำเนินการตามคำพิพากษาสูงสุดของศาล

รังวัดแล้วพบว่าหลักหมุดหาย หรือหมุดเคลื่อน

ในกรณีที่วัดแล้วพบว่าหลักหมุดหาย หรือเคลื่อน ซึ่งอาจเกิดจากความไม่หวังดีของบุคคลกลุ่มหนึ่ง หรือมีการรังวัดที่ดินข้างเคียงแล้วไม่ได้รับหนังสือแจ้งจึงไม่ได้ไปคัดค้านแนวเขต ให้ผู้ขอยื่นรังวัดที่ดินเทียบโฉนดเดิมกับเจ้าของที่ดินข้างเคียง แล้วให้เขาลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต จากนั้น เจ้าพนักงานหน้าที่ถึงจะแก้ไขโฉนดได้

หากตกลงกันไม่ได้ ให้ทั้งสองฝ่ายฟ้องศาลภายใน 90 วัน และหากถูกอ้างครอบครองโดยปรปักษ์ในพื้นที่ เจ้าของที่ดินเดิมสามารถฟ้องเอาที่ส่วนนั้นกลับคืนคืนมาได้ แต่ต้องฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงจดทะเบียนต่อศาลในการครอบครองปรปักษ์

ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

กรมที่ดินได้กำหนดค่าธรรมเนียมในการรังวัดโฉนด ซึ่งค่าใช้จ่ายรังวัดที่ดินบางอย่างของหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะแตกต่างจากค่าใช้จ่ายของโฉนดที่ดิน ดังรายละเอียด

ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือ

รายการ

หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (บาท)

โฉนดที่ดิน

(บาท)

ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ ราคาแปลงละ

30

50

ที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ (เศษของไร่ คิดเป็น 1 ไร่) ราคาไร่ละ

2

2

ค่าธรรมเนียมการพิสูจน์สอบสวน รังวัดที่ดิน

คิดเป็นรายแปลง

30

40

คิดเป็นรายวัน

30

40

ค่าคัดหรือจำลองแผนที่ แปลงละ

30

30

ค่าคำนวณเนื้อที่ หรือสอบแส แปลงละ

30

30

ค่าจับระยะ แปลงละ

10

10

ค่าใช้จ่ายรังวัดแบบเหมาจ่าย

ค่าส่งหมายข้างเคียงผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

200

200

ค่าป่วยการเจ้าพนักงานท้องที่

ตามกฎกระทรวง

ตามกฎกระทรวง

ค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่ และคนงานรังวัด วันละ

1,600

1,600

ค่าคนงานรังวัด ต่อคนต่อวัน

420

420

เนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่ ใน 1 วันทำการ

ตามกฎกระทรวง

ไม่เกิน 3,480

เนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ ใน 2 วันทำการ

ตามกฎกระทรวง

ไม่เกิน 6,760

เนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ ใน 1 วันทำการ

ไม่เกิน 2,640

ตามกฎกระทรวง

เนื้อที่ไม่เกิน 30 ไร่ ใน 3 วันทำการ

ตามกฎกระทรวง

ไม่เกิน 10,040

เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่

ใน 2 วันทำการสำหรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์

ใน 4 วันทำการสำหรับโฉนดที่ดิน

ไม่เกิน 5,080

ไม่เกิน 13,320

ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด

  • ค่าคำขอ แปลงละ 5 บาท
  • ค่ามอบอำนาจ เรื่องละ 20 บาท
  • ค่าปิดประกาศ แปลงละ 10 บาท
  • ค่าพยาน คนละ 10 บาท
  • ค่าหลักเขต หลักละ 15 บาท

หรือตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ ค่าใช้จ่ายการรังวัดแยกตามจังหวัด ของ กรมที่ดิน

สรุป - รังวัดที่ดิน

ผู้ขาย หรือผู้ซื้อที่ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด ควรรู้จักการรังวัดที่ดินและขั้นตอนในการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน รวมถึงการเตรียมตัวรวบรวมหลักฐานที่ต้องใช้ยื่น และค่าธรรมเนียมโดยคร่าวๆ ก่อนไปติดต่อขอใช้บริการรังวัดที่ดินที่กรมที่ดิน เพื่อไม่ให้เสียทั้งเงินและเวลา 

ทั้งนี้การรังวัดทำเพื่อให้ผู้ยื่นขอทราบขนาดของที่ดินก่อนการซื้อขายจริงๆ ตามโฉนดที่ดิน ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันปัญหาที่อาจเกิดมาทีหลัง และเพื่อรักษาผลประโชน์ของผู้ซื้อว่าได้ซื้อที่ดินมาตามที่โฉนดที่ดินระบุไว้จริงๆ

โดยการยื่นรังวัดที่ดิน ควรยื่นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ จากนั้นให้ดำเนินการตามที่กรมที่ดินแนะนำไว้ หากพบปัญหาระหว่างการวัดที่ดิน เช่น ขนาดที่ดินไม่ตรงกับโฉนด หรือหมุดเดิมหาย หรือเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม ให้แจ้งกับเจ้าของที่ดินข้างเคียง และเจ้าพนักงานหน้าที่เพื่อจัดการและแก้ไขต่อไป

เพื่อนแท้ เงินด่วน

บทความยอดนิยม