ต่อภาษีรถยนต์ 2566 ออนไลน์ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

รถที่คุณใช้อยู่ทุกวันนี้ใกล้ถึงเวลาต้องต่อภาษีรถยนต์แล้วหรือยัง ครบมาอีกปีหนึ่งแล้วที่เจ้าของรถต้องเตรียมเอกสารและหาเงินมาจ่ายค่าภาษีเพื่อไปต่อภาษีที่สำนักงานขนส่ง แต่ถ้าคุณไม่มีเวลาไปทำเรื่องเองถึงที่ขนส่ง คุณจะสามารถไปดำเนินการได้ที่ไหนได้บ้าง

แต่การต่อภาษีรถยนต์ตอนนี้ สำหรับเจ้าของรถหรือผู้ที่กระทำการแทนถือว่าสะดวกสบายมากๆ เพราะสามารถทำได้ผ่านทางช่องทางหลากหลายเลยทีเดียว ในบทความนี้เพื่อนแท้เงินด่วนจะแนะนำการต่อภาษีรถออนไลน์แบบละเอียดผ่านบริการระบบ e-Service และแอป DLT Vehicle Tax

ภาษีรถยนต์คืออะไร

ภาษีรถยนต์ คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บโดยกรมสรรพสามิต เนื่องจากรถยนต์เป็นสินค้าและบริการที่เกินความจำเป็น หรือเป็นที่รู้จักว่า สินค้าฟุ่มเฟือย เงินต่อภาษีรถยนต์ที่เก็บไปนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงสภาพ สร้างใหม่ หรือบำรุงพื้นผิวถนนที่เสื่อมสภาพจากการวิ่งของรถยนต์

ต่อภาษีรถยนต์

ต้องต่อภาษีรถยนต์ตอนไหน

ทุกปีเจ้าของรถยนต์ต้องทำการต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถยนต์ใหม่ โดยสามารถต่อได้ล่วงหน้าก่อนทะเบียนจะหมดอายุไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน หากละเลยไม่ต่อภาษีหลังจากที่ภาษีหมดอายุไปแล้ว 1 – 3 ปี เจ้าของรถต้องเสียค่าปรับซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1 ต่อเดือน

ส่วนในกรณีเจ้าของไม่ได้เสียภาษีรถยนต์เกินกว่า 3 ปีขึ้นไป ป้ายทะเบียนของรถจะถูกยกเลิกทันที แต่เจ้าของรถสามารถขอจดทะเบียนรถใหม่ได้โดยต้องนำเอาป้ายทะเบียนเดิมไปทำเรื่องที่กรมการขนส่งทางบก ชำระค่าปรับต่อภาษีรถย้อนหลัง แล้วจึงรับป้ายทะเบียนรถใหม่

ประเภทรถที่ยื่นภาษีออนไลน์ได้

ไม่ใช่ว่ารถยนต์ทุกประเภทสามารถยื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ชวนศึกษาประเภทรถที่สามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีออนไลน์ได้ รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่ควรต้องรู้ ดังนี้

ประเภทรถจดทะเบียนทุกจังหวัดที่ต่อภาษีรถออนไลน์ได้

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1)
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2)
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3)
  • รถจักรยานยนต์ (รย.12)

เงื่อนไขอื่นๆ ของรถที่ต่อภาษีออนไลน์ได้

  • รถประเภทที่ต้องผ่านการตรวจสภาพจากตรอ. (สถานตรวจสภาพรถเอกชน) ก่อนต่อภาษีประกอบไปด้วย
    • รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปีนับจากวันจดทะเบียน
    • รถประเภท รย.12 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปีนับจากวันจดทะเบียน รวมถึงรถที่ค้างชำระภาษีเกิน 1 ปีด้วย
  • รถประเภท รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม
  • รถที่ไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกชนิดเป็นเชื้อเพลิง
  • ต้องไม่เป็นรถที่ถูกระงับทะเบียนติดต่อกัน 3 ปี รถถูกอายัดทะเบียน และรถยกเว้นค่าภาษีประจำปี

สอบถามภาษีค้างชำระ / ข้อมูลภาษี

หากมีข้อสงสัย ข้องใจ หรือต้องการสอบถามเกี่ยวเนื่องกับข้อมูลภาษีรถ ภาษีค้างชำระ หรือ สถานะรถ เจ้าของรถก็สามารถจัดการเองได้บนเว็บไซต์ eservice.dlt.go.th โดยไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก เพียงไปที่หมวดบริการแล้วเลือก “สอบถามข้อมูลค่าภาษีรถประจำปี”

  1. สอบถามข้อมูลโดยการกรอก ประเภทรถ ซึ่งมี รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน, รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และ รถจักรยานยนต์
  2. เลือกจังหวัด หรือสาขา
  3. ใส่เลขทะเบียนรถ
  4. ระบุเลขบัตรประชาชนของเจ้าของรถ
  5. ใส่รหัสตามที่ปรากฏบนภาพ แล้วกดค้นหา
  6. ระบบจะแสดงข้อมูลซึ่งประกอบไปด้วย วันหมดอายุภาษีปัจจุบัน วันที่สิ้นอายุภาษีถัดไป ค่าภาษี และสถานะ

ต่อภาษีรถยนต์ได้ที่ไหน

ต่อภาษีรถยนต์เดี๋ยวนี้สะดวกสบายเพราะสามารถทำได้ด้วยตัวเองผ่านหลายช่องทาง หรือใช้บริการตัวแทนรับต่อภาษีรถยนต์จากหลากหลายผู้ให้บริการ ซึ่งมีดังนี้

  1. กรมการขนส่งทางบก
  2. สำนักงานขนส่ง ซึ่งสามารถต่อได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะจดทะเบียนที่จังหวัดไหนก็ตาม
  3. จุดบริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
  4. ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk)
  5. เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ โดยมีค่าธรรมเนียม 20 บาท และจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์อีก 40 บาท
  6. ที่ทำการไปรษณีย์ โดยมีค่าธรรมเนียม 40 บาท
  7. ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)
  8. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  9. สถานที่รับตรวจสภาพรถและต่อภาษี โดยมีค่าบริการแต่ละที่แตกต่างกันออกไป
  10. ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์

เอกสารที่ใช้ต่อภาษี

หลีกเลี่ยงการเสียเวลาเพราะต้องย้อนกลับไปมาเนื่องจากเตรียมเอกสารไม่ครบ เจ้าของรถควรมีเอกสารดังต่อไปนี้เพื่อใช้ในการต่อภาษีรถยนต์

  1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ตัวจริงหรือสำเนา
  2. ใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.)
  3. หาง พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

อัตราค่าบริการ

กรมการขนส่งกำหนดกำหนดอัตราค่าบริการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ไว้ดังนี้

  • ค่าจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ 32 บาท
  • กรณีใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือหักบัญชีเงินฝาก มีค่าธรรมเนียมธนาคาร 20 บาท
  • กรณีชำระด้วยบัตรเครดิต คิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตร 2% และ VAT อีก 7% ของยอดทั้งหมดที่ต้องชำระ

ช่องทางชำระภาษี

ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์มีช่องทางชำระเงินอยู่ 4 ช่องทางด้วยกัน ดังนี้

  1. หักบัญชีเงินฝาก
  2. บัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA และ Master Card
  3. จุดบริการรับชำระ หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยในใบแจ้งชำระหนี้จะมีรายชื่อจุดรับชำระเงินทั้งหมดและจำนวนเงินที่เจ้าของรถต้องชำระ
  4. แอปพลิเคชันที่รับชำระ ซึ่งมี mPAY โดย AIS และ True Money Wallet โดย TrueMove

ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ผ่านเว็บ e-Service

กรมการขนส่งทางบกมีบริการ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ โดยสามารถเข้าถึงได้จาก eservice.dlt.go.th โดยผู้ใช้งานต้องสมัครสมาชิกก่อนเพื่อเข้าใช้งานได้เต็มรูปแบบ

  1. เลือก “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี” ที่เมนูบริการของ e-Service หากไม่เคยต่อภาษีออนไลน์มาก่อนต้องดำเนินการลงทะเบียนสมาชิกใหม่
  2. ระบบจะแสดงหน้าจอที่มีข้อมูลรายการรถที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ให้เลือกรถที่ต้องการแล้วกดยื่นชำระภาษี
  3. ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับรถและยื่นชำระภาษี พร้อมทั้งกรอกรายละเอียดของ พ.ร.บ. หรือ ซื้อเพิ่ม จากระบบ
  4. เลือก “กรอกสถานที่จัดส่งเอกสาร” แล้วระบุข้อมูลของสถานที่ที่ต้องการให้จัดส่งเอกสาร
  5. จากนั้นกด “เลือกวิธีชำระเงิน” ซึ่งสามารถเลือกได้ 3 ช่องทาง ประกอบไปด้วย หักบัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต และเคานน์เตอร์เซอร์วิส
  6. กดตกลง
  7. คุณสามารถตรวจสอบผลการชำระภาษี ชำระเงิน หรือพิมพ์ซ้ำ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”

ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ผ่านแอป DLT Vehicle Tax

สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่ถึง 7 ปี สามารถต่อภาษีรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax ได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

  1. ผู้ใช้งานครั้งแรกดาวน์โหลด DLT Vehicle Tax ได้จาก
  2. ลงทะเบียนโดยระบุชื่อ-นามสกุล อีเมล เลขประจำตัวประชาชนหรือ ID Passport และเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นกดเพื่อรับรหัส OTP 
  3. ใส่รหัส OTP ที่ได้รับ แล้วกดยืนยัน จากนั้นตั้งรหัส PIN 6 หลัก
  4. เลือก “ชำระภาษีรถ” เมื่อลงทะเบียนสำเร็จแล้ว
  5. จากนั้นกด “รูปแบบชำระภาษี” แล้วเลือกกรอกข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน หรือ เลขทะเบียนนิติบุคคลเจ้าของรถ
  6. เลือก “ประเภทรถ” แล้วกรอกข้อมูลทะเบียนรถ
  7. ระบุข้อมูล พ.ร.บ.
  8. เลือกรับเครื่องหมายของการเสียภาษีรถผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศหรือตู้ kiosk
  9. ชำระเงินได้ 2 ช่องทาง คือ QR ชำระเงิน และ SCB Easy App

การขอคืนเงินภาษีรถ

ไม่แน่ใจว่าเสียภาษีไปซ้ำซ้อน หรือชำระเงินค่าภาษีซ้ำซ้อนแล้วต้องทำอย่างไร อ่านตรงนี้ เพราะกรมขนส่งได้กำหนดขั้นตอนการขอคืนเงินภาษีรถยนต์ไว้

เงื่อนไขขอคืนภาษี

ผู้ที่สามารถขอคืนเงินชำระภาษีได้ มีเงื่อนไขต่อไปนี้

  • ชำระเงินค่าภาษีถูกต้อง ผ่านระบบชำระภาษีออนไลน์
  • ชำระภาษีซ้ำซ้อนในปีภาษีเดียวกันทุกช่องทาง
  • หรือตรวจสอบการชำระภาษีซ้ำซ้อนได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” สามารถขอคืนเงินชำระภาษีได้เมื่อค้นหาแล้วพบสถานะ “พบความผิดพลาดติดต่อกรม”

เอกสารขอคืนภาษี

  1. เอกสารการยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ซึ่งพิมพ์จากเมนู ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”
  2. ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีจากกรมขนส่งฉบับจริง
  3. สำเนาสมุดคู่มือรถ
  4. สำเนาบัตรประชาชน
  5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากสำหรับโอนภาษีคืน
  6. กรณีรถติดไฟแนนซ์ ต้องมีเอกสารดังนี้ สำเนาสัญญาเช่าซื้อ, สำเนาบัตรประชาชนผู้เช่าซื้อ, สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการที่มีอำนาจลงนาม, สำเนาใบรับรองและใบมอบอำนาจจากบริษัทไฟแนนซ์

ขอคืนภาษีได้ที่ไหน

  1. ต้องยืนยันการชำระเงินภาษีซ้ำซ้อนที่เบอร์โทรศัพท์ 02-271-8888 ต่อ 9313
  2. เมื่อยืนยันแล้ว ให้นำเอกสารขอคืนภาษีไปยื่นที่กรมขนส่งทางบกจตุจักร อาคาร 2 ชั้น 2 งานรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน หรืองานรถจักรยานยนต์
  3. แจ้งเจ้าหน้าที่ แล้วรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแจ้งกำหนดการคืนเงิน

สรุป - ต่อภาษีรถยนต์

ทีนี้เจ้าของรถก็อย่าลืมเช็กว่ารถของคุณถึงเวลาต้องต่อภาษีรถยนต์แล้วหรือยัง โดยคุณสามารถชำระภาษีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือนหรือ 90 วันก่อนจะถึงกำหนด และชำระได้ผ่านหลายช่องทางรวมถึงช่องทางออนไลน์ที่สามารถดำเนินการจากที่ไหนก็ได้ จากนั้นให้รอรับเอกสารการต่อภาษีทางไปรษณีย์ประมาณ 5 วันทำการ หากไม่ได้รับหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม คุณสามารถตรวจสอบหรือสอบถามได้กับกรมขนส่งทางบก

เพื่อนแท้ เงินด่วน

เรารักในการให้บริการ ชื่นชอบในข่าวสารวงการการเงิน และ ชอบที่จะหานวัตกรรมใหม่ทางด้านการเงินมานำเสนอ

บทความยอดนิยม